สอน WooCommerce [คู่มือและวิธีใช้งาน] ตอนที่ 2

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ถึงวิธีการสร้างสินค้าแล้วนะครับ สำหรับ สอน WooCommerce ปลั๊กอินขายของออนไลน์ [คู่มือและวิธีใช้งาน] ตอนที่ 2 นี้เราจะมาดูในส่วนของการตั้งค่า Settings ของ WooCommerce กันบ้างครับ

อ่านบทความย้อนหลัง

สำหรับหัวข้อการตั้งค่า WooCommerce นี้ เริ่มต้นให้เราไปที่เมนู WooCommerce > Settings ครับ หน้านี้จะแสดงให้เห็นถึงการตั้งค่าในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ การตั้งค่าทั่วไป (General) การตั้งค่าสินค้า (Products) การตั้งค่าการจัดส่ง (Shipping) การตั้งค่าระบบชำระเงิน (Payments) การตั้งค่าบัญชีผู้ใช้และความเป็นส่วนตัว (Account & Privacy) การตั้งค่าอีเมล์ (Emails) การร่วมใช้งานกับปลั๊กอินอื่น (Integration) และการตั้งค่าขั้นสูง (Advanced)

การตั้งค่าทั่วไป (General)

General settings
General settings

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าที่อยู่ของร้าน (Store Address) ที่เราเคยใส่ข้อมูลตอนเราเริ่มทำการติดตั้ง WooCommerce ตอนเริ่มต้น หากเราต้องการทำการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ก็สามารถทำการแก้ไขได้ในส่วนนี้ครับ สำหรับรายการอื่นที่เราจะต้องทำการตั้งค่าเพิ่มเติมมีดังนี้

ส่วนของการตั้งค่าเสริม (General Options)

  • พื้นที่การขาย (Selling location(s)) ส่วนนี้เราสามารถทำการกำหนดได้ว่า เราต้องการขายสินค้าในพื้นที่ใด หรือไม่ต้องการขายในพื้นที่ใดครับ
  • พื้นที่การจัดส่ง (Shipping location(s)) เราสามารถทำการกำหนดได้ว่าเราจะส่งสินค้าไปที่ใดบ้าง เช่น ส่งไปทุกพื้นที่ที่เราทำการขาย หรือส่งไปเฉพาะบางประเทศ หรือปิดการส่งและคำนวนค่าจัดส่ง
  • ตำแหน่งลูกค้า (Default customer location) สำหรับส่วนนี้ระบบ WooCommerce จะทำการตรวจสอบว่า ผู้ซื้ออยู่ที่ใด สามารถกำหนดได้ว่าให้อ้างอิงจากที่อยู่ของร้านค้า หรือตามระบบ Geolocate ครับ ทั้งนี้การทราบที่อยู่ของผู้ซื้อจะนำไปคำนวณเรื่องค่าจัดส่งและภาษีด้วย
  • การเปิดใช้งานการค่าภาษี (Enable taxes) เป็นการเปิดใช้งานในส่วนของการคำนวนอัตราภาษี ซึ่งตะถูกคำนวนในระหว่างการสั่งซื้อหน้าเช็คเอาท์
  • การเปิดใช้งานคูปอง (Enable coupons) เป็นการเปิดใช้งานในส่วนของโค้ดคูปองที่นำมาเป็นส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้า  และสามารถกำหนดได้ว่าสามารถใช้คูปองได้หลายตัวซ้อนกันแบบท็อบอัพหรือไม่

ส่วนจัดการค่าเงิน (Currency options)

สำหรับส่วนของการจัดการค่าเงินนั้น จะเป็นการระบุว่าหน่วยเงินที่เราจะใช้ในเว็บไซต์นี้เป็นหน่วยใด ตำแหน่งการวางตัวย่อค่าเงิน เช่น ค่าเงินบาท (฿) จะวางไว้ตรงทางซ้ายหรือขวาของตัวเลข และส่วนของการแบ่งหลักพัน ทศนิยม และจำนวนหลักทศนิยมครับ

สินค้า (Products)

Product settings
Product settings

ส่วนสินค้านี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนย่อย ได้แก่ การตั้งค่าทั่วไปของสินค้า (General) การตั้งค่าสินค้าคงคลังหรือสต๊อกสินค้า (Inventory) และการตั้งค่าสำหรับสินค้าดาวน์โหลด (Downloadable products)

การตั้งค่าทั่วไป (General)

ในส่วนของหน้าการตั้งค่าทั่วไป (General) นี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ การตั้งค่าหน้าร้านสินค้า (Shop) การตั้งค่าการหน่วยการวัด (Measurements) และการตั้งค่ารีวิว (Reviews)

การตั้งค่าหน้าร้าน (Shop pages)

การตั้งค่าหน้าร้าน (Shop pages) เป็นส่วนที่ให้เราสามารถกำหนดได้ว่า หน้าร้านของเราจะดึงหน้าใดในหน้าหลักมาใช้งาน สำหรับค่าเริ่มต้นของหน้านี้ถูกกำหนดให้เป็นหน้า Shop ที่อยู่ในหน้าหลัก (Pages) ครับ อีกส่วนหนึ่งที่เราสามารถตั้งค่าได้ในหน้านี้ก็คือ การตั้งค่าพฤติกรรมการกดปุ่มสั่งซื้อสินค้า (Add to cart behavior) ที่เราสามารถทำการกำหนดได้ว่าหลังจากทำการกดปุ่มแล้วให้ทำการเปลี่ยนหน้าไปยังหน้าตะกร้าสินค้าทันทีหรือไม่ (Redirect to the cart page after successful addition) และอีกส่วนหนึ่งคือ การเปิดใช้งาน AJAX ของปุ่มสั่งซื้อในหน้าหมวดหมู่สินค้า (Enable AJAX add to cart button on archives) ส่วนสุดท้ายคือ การเลือกใช้งานรูปเริ่มต้น (Placeholder) ที่จะถูกใช้แทนก่อนในกรณีที่เรายังไม่ได้ใส่รูปสินค้าครับ

การตั้งค่าหน่วยวัด

สำหรับการตั้งค่าหน่วยวัดนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ก็คือ น้ำหนัก (Weight unit) และขนาด (Dimensions unit) ครับ เราสามารถทำเปลี่ยนประเภทของหน่วยวัดที่เราต้องการได้ที่นี่

การตั้งค่ารีวิว (Reviews)

สำหรับในส่วนการตั้งค่ารีวิว (Reviews) จะเป็นการเปิดใช้งานการรีวิวสินค้า (Enable product reviews) การให้มีคำว่าได้ถูกตรวจสอบจากเจ้าของแล้วในส่วนของการรีวิวสินค้า และการเปิดให้แสดงรายการรีวิวที่ถูกตรวจสอบเท่านั้น

ในส่วนของคะแนนสินค้า (Product ratings) จะเป็นการเปิดให้มีการแสดงรูปดาวที่ให้คะแนนในส่วนของการรีวิว (Enable star rating on reviews) และจะต้องให้ผู้รีวิวต้องทำการให้คะแนนดาวด้วยมิฉะนั้นจะไม่แสดงข้อความความคิดเห็น (Star ratings should be required, not optional)

การตั้งค่าสินค้าคงคลัง (Inventory)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าการบริหารสต๊อกสินค้า เราสามารถทำการเปิดใช้งานการควบคุมสต๊อกสินค้าได้ที่นี่ (Enable stock management) สามารถระบุได้ว่าเราต้องการให้มีการกันสต๊อกไว้สำหรับคนที่สั่งซื้อในระยะเวลากี่วัน (Hold stock) มีการแจ้งเตือน (Notification) เมื่อสินค้าในสต๊อกต่ำหรือหมดสต๊อก โดยสามารถทำการกดหนดตัวเลขขั้นต่ำหรือเกณฑ์ที่กำหนด (Threshold) อีเมล์สำหรับการแจ้งเตือน (Notification recipients) และรูปแบบการแจ้งเตือน (Display format)

สินค้าดาวน์โหลด (Downloadable products)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าสำหรับสินค้าที่เราให้ดาวน์โหลด เช่น ไฟล์เสียง ไฟล์รูป เราสามารถกำหนดวิธีการดาวน์โหลด (File download method) และสิทธิในการเข้าถึงการดาวน์โหลด (Access restriction) ได้ที่นี่ครับ

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce

การตั้งค่าการจัดส่ง (Shipping)

สำหรับการตั้งค่าการจัดส่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่การจัดส่ง (Shipping zones) การตั้งค่าตัวเลือกการจัดส่ง (Shipping options) และประเภทการจัดส่ง (Shipping Classes)

พื้นที่การจัดส่ง (Shipping zones)

เราสามารถกำหนดเขตพื้นที่การจัดส่งที่เราต้องการ โดยสามารถทำการแบ่งเป็นประเทศหรือแบ่งเป็นจังหวัดก็ได้ ประโยชน์ของการแบ่งพื้นที่การจัดส่งก็คือ เราสามารถที่จะกำหนดเรทราคาค่าจัดส่งของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันได้

ตัวเลือกการจัดส่ง (Shipping options)

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการตั้งค่าการจัดส่งครับ ได้แก่ การคำนวณค่าจัดส่ง (Calculations) ในหน้าตะกร้าสินค้า การซ่อนการคำนวนต้นทุนค่าจัดส่งจนกระทั่งใส่ข้อมูลที่อยู่ของลูกค้า และการระบุที่จัดส่ง (Shipping destination) กำหนดปลายทางที่จัดส่งว่าเป็นที่ใดระหว่างที่อยู่ของใบแจ้งหนี้กับที่รับสินค้าครับ

ประเภทการจัดส่ง (Shippinbg classes)

เราสามารถทำการสร้างประเภทการจัดส่งเพิ่มเติมขึ้นได้ หากประเภทของการจัดส่งที่ทาง WooCommerce กำหนดให้ ไม่สอดคล้องกับธุรกิจของเรา หน้าประเภทของการจัดส่งนี้เป็นเพียงการระบุชื่อประเภทของการจัดส่งและคำบรรยายเท่านั้น ตัวอย่างประเภทของการจัดส่ง เช่น จัดส่งสินค้าขนาดใหญ่คิดคำนวณ 2 เท่า หรือ จัดส่งสินค้าจำนวนมากลด 35% เป็นต้น เราจะต้องนำค่านี้ไปกำหนดสูตรอีกครั้งในหน้าพื้นที่การจัดส่งครับ

ระบบชำระเงิน (Payment)

Payment settings
Payment settings

หน้าระบบชำระเงินนี้จะเป็นหน้าที่ตั้งค่าระบบการชำระเงินต่างๆ ตั้งแต่ ระบบการโอนเงินผ่านธนาคาร (Direct bank transfer) ระบบสั่งจ่ายด้วยเช็ค (Check payments) ระบบจ่ายเงินปลายทาง (Cash on delivery) การสั่งจ่ายแบบเพย์พอล (PayPal) และแบบปุ่มเพย์พอล (PayPal Checkout) ซึ่งเราสามารถทำการเลือกเปิดการใช้งานแต่ละอย่างตามที่เราต้องการ

สำหรับการสั่งจ่าย 3 แบบแรก การตั้งค่าให้เราใส่ข้อมูลที่จำเป็น เช่น เลขที่บัญชีธนาคาร (Account Name) วิธีการจัดส่ง (Shipping Method) และคำแนะนำต่างๆ (Title and Description) ตามที่ช่องว่างกำหนดไว้ และส่วนเพย์พอล (PayPal) นั้น เราจะต้องทำการสร้างบัญชีของตนเองที่หน้าเว็บไซต์เพย์พอลก่อน แล้วให้นำค่า API จากเว็บดังกล่าวมาใส่ไว้ในช่องตั้งค่าเพื่อให้เว็บของเราทำการเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินครับ  

ระบบบัญชีและความเป็นส่วนตัว (Account & Privacy)

หน้านี้จะเป็นการเป็นการกำหนดค่าระบบบัญชีและความเป็นส่วนตัว เช่น การจัดการการสั่งซื้อจากผู้ที่ไม่ได้ทำการลงทะเบียน (Guest Checkout) ว่าจะอนุญาตให้ลูกค้าสามารถทำการสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ต้องทำการลงทะเบียนในเว็บไซต์ก่อนหรือไม่ (Allow customers to place orders without account) หรืออนุญาตให้ลูกค้าสามารถล็อกอินเข้าในบัญชีที่เขามีอยู่แล้วระหว่างการชำระเงินได้ (Allow customers to log into an existing account during checkout) นอกจากนั้นแล้วยังมีในส่วนของการสร้างบัญชี (Account creation) ว่าสามารถทำการสร้างในขั้นตอนหน้าเช็คเอาท์ (Checkout page) หรือหน้าบัญชีของฉัน (My account)

เรายังสามารถทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลและการดาวน์โหลดไฟล์ในกรณีที่ลูกค้าร้องขอให้ทำการลบ (Account erasure requests) และสามารถกำหนดหน้าแสดงนโยบายส่วนบุคคล (Privacy policy) ที่กำหนดให้ว่า เว็บของเราจะทำการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในเรื่องใดและกำหนดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า (Personal data retention) เช่น ระยะเวลาการไม่ใช้งานบัญชีผู้ใช้งาน ระยะเวลาการรอการสั่งซื้อ เป็นต้น

อีเมล์ (Email)

Email settings
Email settings

สำหรับส่วนถัดมาจะเป็นส่วนของการจัดการอีเมล์ครับ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ที่ส่งให้ลูกค้าและส่งให้ผู้ขาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อแล้วจะมีอีเมล์ไปยังลูกค้านั้น แจ้งสถานการณ์สั่งซื้อว่าสั่งซื้อสำเร็จ (Completed order) หรืออยู่ในสถานะรอ (Order on-hold) หรือสถานะสั่งซื้ออยู่ระหว่างดำเนินการ (Processing order) หรือจะส่งอีเมล์มาแจ้งเตือนผู้ขายว่ามีการสั่งซื้อใหม่ (New order) เกิดขึ้น การยกเลิกการสั่งซื้อ (Cancelled order) และรายการสั่งซื้อล้มเหลว (Failed order) เป็นต้น

ในส่วนของอีเมล์นี้ ยังมีการแจ้งเตือนในส่วนของการสร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่ (New account) การรีเซ็ทพาสเวิร์ด (Reset password) และอื่นๆ

ส่วนเชื่อมต่อ (Integration)

ส่วนการเชื่อมต่อ (Integration) นี้จะเป็นการเชื่อมต่อกับปลั๊กอิน WooCommerce and Facebook Integration ครับ ปลั๊กอินตัวนี้จะช่วยให้เราสามารถทำการควบคุมสินค้าที่เฟสบุ๊คผ่านทาง WooCommerce มีระบบการตรวจสอบการใช้งานผ่าน Facebook pixel และสามารถทำการทำโฆษณาสินค้าของเราได้

ส่วนขั้นสูง (Advanced)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าขั้นสูงของ WooCommerce ครับ ประกอบด้วยหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่การตั้งค่าหน้า การใช้งานส่วนของ REST API, Webhooks, Legacy API และ WooCommerce.com เนื่องจากหัวข้อนี้ค่อนข้างยากสำหรับการใช้งานพื้นฐานจึงไม่ขออธิบายในบทความนี้นะครับ

สำหรับหัวข้อ สอน WooCommerce ตอนที่ 2 ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ สำหรับส่วนอื่นๆ ก็ติดตามกันได้ในตอนต่อไป

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce