Google Search Console เครื่องมือบริหารจัดการเว็บไซต์สำหรับการทำ SEO

Google Search Console หรือในอดีตที่เรียกว่า Google Webmaster คือเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารจัดการเว็บไซต์ ของเราให้มีตำแหน่งที่ดีในระบบค้นหาของ Google Search ภายในจะประกอบไปด้วยภาพรวม ความครอบคลุม ผลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบ URL ดัชนี การเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ และเครื่องมือต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาพรวม

Overview
Overview

ภาพรวมนี้จะเป็นส่วนสรุปข้อมูลผลการปฏิบัติงาน ความครอบคลุม และการเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ โดยมีลักษณะเป็นกราฟรายวัน เราสามารถที่จะกำหนดช่วงระยะเวลาที่เราสนใจได้ และหากเราสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูในแต่ละเมนูได้ครับ

ผลการปฏิบัติ

ผลการปฏิบัติ
ผลการปฏิบัติ

ในส่วนของผลการปฏิบัตินี้จะเป็นกราฟรายงานถึงจำนวนคนคลิ๊กเข้าสู่เว็บไซต์ในแต่ละวัน การแสดงผลในระบบค้นหา ค่าเฉลี่ย CTR และอันดับเฉลี่ยของคีย์เวิร์ด นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อมูลรายการคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหาผ่านระบบ Google หน้าเว็บที่ถูกเข้าถึง ประเทศ อุปกรณ์ ลักษณะที่ปรากฏในการค้นหา และวันที่ที่ค้นหาครับ

การตรวจสอบ URL มีไว้เพื่อตรวจสอบว่า URL ของเว็บไซต์เรานั้น Google ได้เข้ามาทำการเก็บข้อมูลไปแล้วหรือยัง โดยเราสามารถทำการพิมพ์ URL ที่สงสัยลงไปในช่องค้นหาและให้ระบบแสดงผลลัพธ์ออกมาครับ ซึ่งข้อมูลที่เราได้มีข้อมูลหลายตัวด้วยกัน ได้แก่ URL ของเราอยู่ใน Google หรือมีการจัดทำดัชนีแล้วหรือไม่ เราได้จัดทำลิงก์นี้ไว้ในแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap) หรือไม่ การใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มีความเหมาะสมหรือไม่ และการแสดงเส้นทางการเข้าถึงลิงก์นี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

หมายเหตุ CTR (Click Through Rate) คือ อัตราส่วนระหว่างการกดคลิ๊กต่อการแสดงผลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หากมีค่ามากในคีย์เวิร์ดใด แสดงว่าเว็บของเรามีหัวข้อและคำบรรยายในหน้า Google Search ดี มีความเกี่ยวข้องสูง หากมีค่าต่ำ แสดงว่าเราจะต้องทำการปรับปรุงหัวข้อและคำบรรยายให้สอดคล้องกับคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหา

ดัชนี (Index)

ในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ความครอบคลุม และแผนผังเว็บไซต์ ซึ่งเป็นส่วนของการตรวจสอบว่าหน้าเว็บไซต์ของเราได้ถูกบันทึกแล้วหรือไม่ (Index) มีข้อผิดพลาดหรือยกเว้นอะไรบ้าง และอยู่ในแผนผังเว็บไซต์หรือไม่ ดังนี้

ความครอบคลุม

ความครอบคลุม
ความครอบคลุม

รายงานฉบับนี้เกิดจาก เมื่อเราได้ทำการเขียนบทความในเว็บไซต์ ระบบของกูเกิ้ลจะส่งบอท (bot) ได้แก่ บอทที่มาเก็บรูป (Image bot) บอทที่มาเก็บเนื้อหาเว็บที่เป็นตัวอักษร (Text bot) บอทที่เก็บข้อมูลสำหรับมือถือ (Mobile bot) เข้ามาเก็บข้อมูลภายในเว็บไซต์ของเรา เมื่อเก็บมาแล้วก็จะทำการจัดเรียงหรือทำดัชนีเนื้อหาที่เก็บได้เข้าไปในระบบ Google รายงานนี้จะบอกว่า หน้าที่ถูกทำการจัดเก็บสมบูรณ์หรือมีความผิดปกติ โดยหากทำการเก็บข้อมูลครบถ้วนก็จะเขียนว่า ถูกต้องหรือได้ทำการจัดทำดัชนีแล้ว แต่หากมีข้อผิดพลาดก็อาจจะมีข้อความต่างๆ เช่น URL ที่ส่งถูกบล็อกโดย robots.txt หรือในกรณีที่ถูกยกเว้น ก็จะมีตัวอย่างเช่น ความผิดปกติในการรวบรวมข้อมูล เป็นต้น

รายงานฉบับนี้จึงมีความสำคัญคือ เมื่อเราทำการตรวจสอบแล้ว หากพบว่า URL ของเราเกิดข้อผิดพลาด ก็ให้เราทำการแก้ไขใน URL ดังกล่าว เพื่อให้ลิงก์ของเรานั้นถูกนำไปจัดเรียงในระบบของ Google Search ได้ถูกต้องและครบถ้วนครับ

แผนผังเว็บไซต์

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ แผนผังเว็บไซต์ จะเป็นเหมือนโครงสร้างของเว็บไซต์อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่ชื่อ sitemap.xml มีไว้เพื่อให้กูเกิ้ลเข้าใจและเรียนรู้ในส่วนของโครงสร้างเว็บของเราและทำให้กูเกิ้ลทำงานได้ง่ายขึ้น หากไม่มีไฟล์นี้จะทำให้การเก็บข้อมูลในกูเกิ้ลทำได้ยากและอาจส่งผลเสียต่อลำดับของเราที่แสดงใน Google Search ด้วยครับ

การเพิ่มประสิทธิภาพ

ในหัวข้อถัดมาเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์ เช่น ความเร็ว การใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การแสดงเส้นทาง ผลิตภัณฑ์ ช่องค้นหาไซต์ลิงก์ และข้อมูลที่มีโครงสร้างที่แยกวิเคราะห์ ข้อมูลที่ทาง Google Search Console ให้นี้จะทำให้เว็บไซต์ของเรามีการพัฒนามากขึ้นและรองรับการทำงานและอุปกรณ์ที่หลากหลายขึ้นด้วย

ความเร็ว (การทดสอบ)

ความเร็วในการทดสอบ
ความเร็วในการทดสอบ

ในหัวข้อนี้เป็นการตรวจสอบความเร็วของการเปิดเว็บไซต์ของเราครับ โดยจะทำการทดสอบทุกหน้าทั้งในการเปิดใช้งานแบบคอมพิวเตอร์และแบบมือถือ และจะบอกว่ามี URL ใดบ้างที่มีเร็ว ปานกลาง หรือช้า พร้อมทั้งบอกเหตุผลที่หน้าเว็บนั้นช้าเพื่อให้ทำการแก้ไข เช่น ปัญหา FCP นานกว่า 3 วินาที (เดสก์ท็อป)

การใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

หัวข้อนี้จะเป็นการตรวจสอบ URL ของเราว่ามีการแสดงผลทางหน้าอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เช่น แท็บเล็ตและมือถือ ถูกต้องหรือไม่ พร้อมทั้งแจ้งเตือนข้อผิดพลาดต่างๆ เช่น องค์ประกอบที่คลิกได้อยู่ใกล้กันเกินไป เนื้อหากว้างกว่าหน้าจอ เป็นต้น

การแสดงเส้นทาง

หัวข้อนี้จะเป็นการบอกถึง URL ของเราว่ามีการรีไดเร็ก หรือถูกเปลี่ยนแปลงเส้นทางก่อนเข้ามายังหน้าเว็บไซต์หรือไม่

ผลิตภัณฑ์

หัวข้อนี้จะถูกใช้งานเมื่อเว็บไซต์ของเรามีการขายสินค้าออนไลน์ โดยจะทำการตรวจสอบว่ามีการใส่ฟังก์ชั่นในรายการขายต่างๆ ครบหรือไม่ เช่น ราคา รีวิว หรือการให้เรตติ้งต่างๆ โดยจะแสดงผลข้อผิดพลาด เช่น ต้องระบุ “offer” “review” หรือ “aggregateRating” เป็นต้น

ช่องค้นหาไซต์ลิงก์

ในหัวข้อนี้จะพูดถึงช่องค้นหาในหน้าเว็บไซต์ที่เรามีไว้เพื่อค้นหาเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราครับ

ข้อมูลที่มีโครงสร้างที่แยกวิเคราะห์ไม่ได้

หัวข้อนี้เป็นส่วนของการตรวจสอบโครงสร้างเว็บไซต์ของเรา โดย Google จะทำการตรวจสอบเนื้อหาและไวยากรณ์ที่ใช้ว่าถูกต้องหรือไม่ ในกรณีที่เกิดปัญหา ให้เราใช้เว็บการทดสอบข้อมูลโครงสร้าง (Structured Data) ของ Google มาทำการตรวจสอบและแก้ไข https://search.google.com/structured-data/testing-tool/u/0/

ตัวอย่างของปัญหาได้แก่ เอกสาร JSON ไม่ถูกต้อง ประเภทค่าไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ความปลอดภัยและการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่

หัวข้อนี้จะแสดงถึงปัญหาความปลอดภัยที่เกิดขึ้นภายในเว็บไซต์ของเราในกรณีที่เราโดนการเจาะระบบ (Hack) หรือโดนสแปม โดยจะมี 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ การดำดเนินการโดยเจ้าหน้าที่ และปัญหาความปลอดภัยครับ

สอน SEO
สอน SEO

เครื่องมือและรายงานเดิม

สำหรับในส่วนของเครื่องมือและรายงานเดิมนี้ จะเป็นส่วนที่นำมาจากระบบ Google Search Console เก่า มีรายละเอียดดังนี้

การกำหนดเป้าหมายระหว่างประเทศ

หัวข้อนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบภาษาของเว็บไซต์ว่ามีการใส่แท็กทางด้านภาษาถูกต้องหรือไม่ และให้เรากำหนดว่าเว็บไซต์ของเรานั้นมีผู้ใช้เป้าหมายอยู่ในประเทศใด

การนำออก

หัวข้อนี้จะเป็นการที่ให้เราทำการแจ้งให้นำ URL ออกจากระบบ Google Search ชั่วคราว มีไว้ในกรณีที่เราได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของเราแล้วมีข้อผิดพลาด แต่ Google ได้ทำการเก็บข้อมูลและนำไปแสดงผลแล้ว จึงต้องมีการนำ URL นั้นออกจากระบบก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน แต่หากเราต้องการนำหน้าเว็บไซต์ออกจริงเราจะต้องนำต้นฉบับที่อยู่ในเว็บไซต์เราออกหรือทำการอัพเดทหน้าเว็บไซต์นั้นครับ

สถิติการรวบรวมข้อมูล

หน้านี้จะเป็นหน้าที่ทำการแจ้งว่าบอทของ Google ได้เข้ามาทำการเก็บข้อมูลจำนวนเท่าไรต่อวัน ทั้งในส่วนของหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่อวัน กิโลไบต์ที่ดาวน์โหลดต่อวัน และเวลาที่ใช้ในการดาวน์โหลดหนึ่งหน้าครับ

ข้อความ

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการแจ้งเตือนต่างๆ ทั้งในส่วนของประสิทธิภาพการทำงานประจำเดือน ปัญหาต่างๆ ที่ตรวจพบ เช่นปัญหาความครอบคลุม ปัญหาผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น

พารามิเตอร์ URL

สำหรับในส่วนนี้เป็นส่วนที่ Googlebot ทำหน้าที่ในการตัดสินใจเองในการเก็บพารามิเตอร์เพื่อนำไปใช้งาน  เช่น พารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับ ID,  Action, Comment และอื่นๆ เราไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการทำงานนี้ เพราะหากเราใส่ค่าผิดอาจจะทำให้ Google ถอดเราออกจากระบบการค้นหาได้

Web Tools

ส่วนนี้จะแสดงเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้กับเว็บไซต์ เช่น รายงานประสบการณ์การใช้งานโฆษณามีไว้เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาของเรานั้นรบกวนผู้ใช้งานหรือไม่ และเครื่องมือทดสอบข้อมูลที่มีโครงสร้าง โปรแกรมช่วยมาร์กอัปข้อมูลที่มีโครงสร้าง และตัวทดสอบมาร์กอัปของอีเมล์

ลิงก์

หัวข้อนี้จะพูดถึงลิงก์ที่เชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกเว็บไซต์ (Internal Link and External Link) ว่ามาจากลิงก์ใด เว็บไซต์ใดบ้าง ข้อความใดบ้าง โดยจะเรียงลำดับตามความนิยมของแต่ละหัวข้อ

การตั้งค่า

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการตั้งค่าที่เราจะต้องทำตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้ Google Search Console นั้น ทำการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ของเราและสามารถทำการเก็บข้อมูลได้ครับ โดยเราสามารถทำการเลือกวิธีการยืนยันเว็บไซต์ว่าเป็นเว็บไซต์ของเราได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ แท็ก HTML, Google Analytics, Google Tag Manager และผู้ให้บริการชื่อโดเมน

สอน SEO
สอน SEO

นอกจากหัวข้อด้านบนแล้ว ในส่วนอื่นๆ ก็จะมี การส่งความคิดเห็นที่ให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นไปยัง Google ให้ทำการปรับปรุงได้ และรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับเวอร์ชั่นใหม่ของ Google Search Console ใหม่ครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับบทความนี้ คงจะได้ความรู้ไม่มากก็น้อย สำหรับความรู้นี้ที่เราได้นี้ หากเรานำวิเคราะห์ และแก้ปัญหาทั้งหมดของเว็บไซต์ได้ ก็จะช่วยทำให้เว็บเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และถูกต้องตามหลักการด้วย ซึ่งผลที่ได้อาจจะทำให้ตำแหน่งในระบบค้นหาของ Google Search ดีขึ้นด้วยนะครับ